ความเป็นมา
กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย หรือ กห.อต. ให้การสนับสนุนหลักสูตรต่างๆแก่กองทัพเรือ ตามโครงการ Defence Cooperation (DC) ณ เครือรัฐออสเตรเลีย เป็นประจำทุกปี โดยหลักสูตรต่างๆ เป็นหลักสูตรซึ่งมาจากความต้องการของ นขต.ทร. และเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของนขต.ทร.ด้วย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมเหล่านั้นจะได้เรียนรู้ ฝึกฝนวิทยาการที่ทันสมัยและนำกลับมาใช้ปฏิบัติงาน หรือถ่ายทอดให้กับกำลังพล ทร. อันจะทำให้กองทัพเรือไทยเป็นกองทัพเรือชั้นนำในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนที่กำลังพล ทร. จะเดินทางไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ตามโครงการ DC นั้น จะต้องผ่านการทดสอบ Australian Defence English Language Profiling System หรือ ADFELPS ซึ่งเป็นการทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษ ๔ ทักษะ ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ให้ผ่านตามเกณฑ์ที่แต่ละหลักสูตรกำหนดก่อน โดยผู้ที่ ทร. คัดเลือกให้เป็นตัวจริงและตัวสำรองในหลักสูตรต่างๆ จะต้องมาเข้ารับการอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียน ที่ ศภษ.ยศ.ทร. เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษา ก่อนรับการทดสอบดังกล่าว
ภารกิจการเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้กับกำลังพล ทร. ที่ได้รับการคัดเลือก อาจมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนมีส่วนที่จะไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่มากแต่ทุกขั้นตอนไม่ควรละเลยเพราะเกี่ยวข้องกับการที่กำลังพล ทร. จะได้มีโอกาสไปรับวิทยาการที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศภษ.ยศ.ทร. จึงเห็นควรจัดทำเอกสารเพื่อจัดการความรู้ฉบับนี้ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตร AELC ให้ได้ผลสูงสุด อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีหน้าที่บริหารควบคุมกำกับดูแลหลักสูตรดังกล่าวต่อไป
การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียน
การจัดชั้นเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียน ซึ่งต่อแต่นี้ไปจะเรียกว่าหลักสูตร AELC
จะแบ่งเป็น ๒ ห้องเรียน มีวิธีการจัดชั้นเรียน ดังนี้
๑. ผู้ที่ ทร. คัดเลือกให้เป็นตัวจริงและตัวสำรองเพื่อไปศึกษาหลักสูตรต่างๆ ตามโครงการ DC ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ศภษ.ยศ.ทร. จะนัดให้มาทำการทดสอบที่เรียกว่า Pre-Test ซึ่งเป็นการวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อจัดแบ่งชั้นเรียนตามระดับคะแนนที่ได้ ปกติ ศภษ.ยศ.ทร. จะนัดจัดสอบประมาณ ๓ สัปดาห์ก่อนเปิดการอบรม
๒. การสอบ Pre-Test จะใช้ข้อสอบ ADFELPS ที่เป็นรุ่นเก่าและไม่ได้ใช้ในการสอบแล้ว ตัวข้อสอบจะได้รับการจัดเก็บไว้ในตู้เหล็กซึ่งล็อคกุญแจในห้องของ ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. และ ผอฯ เป็นผู้เก็บรักษากุญแจสำหรับไขตู้เก็บข้อสอบดังกล่าว ดังนั้นผู้ควบคุมการทดสอบจะต้องจัดเตรียมข้อสอบให้เรียบร้อยก่อนวันทดสอบอย่างน้อย ๑ วัน โดยมาขอกุญแจจาก ผอ.ฯ เพื่อเปิดตู้เก็บข้อสอบ
๓. ลักษณะของข้อสอบ ADFELPS เป็นการทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษ ๔ ทักษะ ได้แก่ การฟัง การอ่าน การพูดและการเขียน แต่ในการจัดทดสอบ Pre-Test จะทดสอบเฉพาะทักษะการฟัง การอ่านและการเขียน ส่วนการพูดจะกระทำเมื่อตัวจริงและตัวสำรองเข้ามาเป็นนักเรียนที่ศภษ.ยศ.ทร. แล้ว
๔. กรรมการควบคุมการทดสอบ ตรวจข้อสอบ เสร็จแล้วจะต้องเสนอผลคะแนนให้ หน.ศึกษา ศภษ.ยศ.ทร. ทราบเพื่อจะได้ดำเนินการจัดห้องเรียน จัดครูประจำชั้นและครูผู้สอนต่อไป
๑. การจัดการด้านครูผู้สอน
๑.๑ การจัดครูประจำชั้นและครูผู้สอน
๑.๑.๑ หน.ศึกษาฯ เรียกผู้ที่คาดว่าจะมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูประจำชั้นและครูผู้สอนมาประชุมปรึกษาหารือวางแผนการสอนในภาพรวม
๑.๑.๒ คุณสมบัติของครูประจำชั้น
๑.๑.๒.๑ เป็นครูภาษาที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Methodology English Language Training (MELT) และ/หรือ หลักสูตร English Training Development Course (ETDC) ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ตามโครงการ DC โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการสอน โดยใช้ตำรา AELC เป็นหลัก ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะมีความคุ้นเคยกับตำราเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของเครือรัฐออสเตรเลียพอสมควร และจะพอสามารถแนะนำ นร. ในหลักสูตรAELCได้
๑.๑.๒.๒ สามารถให้คำแนะนำลักษณะของข้อสอบ ADFELPS การเตรียมตัวเพื่อการสอบดังกล่าวรวมถึงลักษณะการให้คะแนน
๑.๑.๒.๓ วิเคราะห์และประเมินการเรียนของ นร. ในชั้นของตนว่ามีการพัฒนาทางการเรียนหรือไม่ นร. คนใดต้องการการสอนเสริมในทักษะใดเป็นพิเศษ คอยจัดเตรียมเอกสารข้อมูลที่จะใช้ในการฝึกเพิ่มเติม
๑.๑.๒.๔ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่นจัดเตรียมตารางสอนให้กับครูผู้สอน จัดเตรียมตำราและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับครูผู้สอนจัดเตรียมตำรา รวมถึงพจนานุกรมให้ นร. เบิกยืมใช้ในการเรียน
นอกจากนี้ผู้ที่เป็นครูประจำชั้นต้องสามารถให้คำแนะนำครูผู้สอนเมื่อมีปัญหาข้อขัดข้อง เช่น ปัญหาด้านการสอนจัดครูคนอื่นสอนแทนครูผู้สอนที่มาสอนไม่ได้หรือพร้อมที่จะสอนแทน แนะนำแหล่งค้นคว้าข้อมูลที่จะนำมาสอน ฯลฯ
๑.๑.๓ คุณสมบัติของครูผู้สอน
๑.๑.๓.๑ เป็นครูภาษา
๑.๑.๓.๒ อาจเป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรตามข้อ ๑.๑.๒.๑
๑.๑.๓.๓ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมือนครูประจำชั้น
๑.๑.๓.๔ อาจเคยหรือไม่เคยผ่านการอบรมเป็น ADFELPS Rater
๑.๑.๓.๕ อาจเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นครูประจำชั้นมาก่อน
๑.๒ การดำเนินการของครูประจำชั้น
ก่อนที่ครูประจำชั้นจะมอบหมายงานให้กับครูผู้สอน มีสิ่งที่ครูประจำชั้นจะต้องดำเนินการก่อน ได้แก่
๑.๒.๑ จัดเตรียมรายชื่อ นร. และหลักสูตรที่ นร. จะไปศึกษา พร้อมด้วยเกณฑ์ผ่านของแต่ละหลักสูตร เพราะ นร. ที่ผ่านการทดสอบ Pre-Test โดยมากจะมีระดับคะแนนน้อยกว่าที่ Course Profile กำหนด
๑.๒.๒ แจกจ่ายรายชื่อ นร. พร้อมด้วยคะแนน Pre-Test ของ นร. ที่ได้มาช่วยกันประเมินกับครูผู้สอนเพื่อกำหนดการสอนเสริมว่าควรจะเน้นทักษะใดเป็นพิเศษและก่อนที่จะจัดทำตารางสอนโดยครูประจำชั้นจะปรึกษาหารือกับครูผู้สอนเพื่อกำหนดว่าใครจะดูแลรับผิดชอบการเสริมการฝึกทักษะใดให้กับ นร. ควรจะใช้ material ใดเพื่อช่วยการฝึกฝน
๑.๒.๓ เมื่อกำหนดได้แล้วว่าครูผู้สอนคนใดจะดูแลในเรื่องอะไร ทั้งครูประจำชั้นและครูผู้สอนจะปรึกษากันในเรื่องของความเร็วในการสอน โดยถ้าเป็นห้องที่ นร. มีระดับคะแนนน้อย ความเร็วในการสอนไม่ควรไปเร็วรวมทั้งหัวข้อของบทเรียนไม่ควรครอบคลุมเนื้อหามากจนไม่สามารถสอนจบได้ในคาบนั้นๆ
๑.๒.๔ ครูประจำชั้นแจ้งกับครูชาวต่างประเทศเพื่อให้ทราบถึงกำหนดเปิดและรายละเอียดที่เตรียมการในข้อ ๑.๒.๒ และ๑.๒.๓
๑.๒.๕ ครูประจำชั้นจัดทำตารางสอน โดยการจัดทำต้องคำนึงถึงเรื่องของการทำหน้าที่ควบคุมสอบ PT ในช่วงบ่ายของวันจันทร์และวันพฤหัสบดี การออกไปสอนนอกหน่วยในตอนบ่ายของวันอื่นๆ ในสัปดาห์ด้วย
๑.๒.๖ ครูประจำชั้นแจกจ่ายตารางสอนให้กับครูผู้สอนทุกคน และมอบให้หน.ศึกษาฯเพื่อให้เสนอ ผอ.ฯ ต่อไป
๑.๒.๗ ครูประจำชั้นประสานงานกับแผนกบริการ เพื่อให้ดำเนินการจัดห้องเรียนจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการสอน เช่น เครื่องเล่น CD/DVD จอโทรทัศน์ หรืออุปกรณ์ใดๆที่ได้รับการร้องขอ
๑.๒.๘ ครูประจำชั้นอาจมอบหมายครูผู้สอนเพื่อสอนแทนครูที่มาสอนไม่ได้ หรือจัดตนเองเพื่อสอนแทน
๑.๓ การพัฒนาครูผู้สอน
๑.๓.๑ จัดส่งครูผู้สอนไปอบรมหรือเข้าร่วมสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียน การสอน ณ สถาบันการศึกษาที่เปิดให้มีกิจกรรมดังกล่าว เช่น การอบรมการออกเสียง การประชุมทางวิชาการที่จัดโดยสถาบันการศึกษาของรัฐหรือสำนักพิมพ์ตำราที่มีชื่อเสียง เป็นต้น โดยสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
๑.๓.๒ จัดส่งครูภาษาไปศึกษาตามโครงการ DC ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ในหลักสูตรต่อไปนี้
๑.๓.๒.๑ หลักสูตร Methodology English Language Training (MELT)
๑.๓.๒.๒ หลักสูตร English Teaching Development Course (ETDC) ทั้งสองหลักสูตรมีระยะเวลาศึกษาประมาณ ๔ เดือน โดยหลักสูตร ๑.๓.๒.๑ จะมีขึ้นทุกปีๆ ละครั้ง สำหรับหลักสูตร ๑.๓.๒.๒ จะมีขึ้น ปีเว้นปี
๑.๓.๒.๓ หลักสูตร ADFELPS Rater มีระยะเวลาอบรมประมาณ ๓ สัปดาห์ทั้ง ๓ หลักสูตร กห.อต. จะแจ้งให้ ทร. จัดเตรียมผู้เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า
๑.๓.๓ ศภษ.ยศ.ทร. จัดอบรมความรู้ด้านการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาครูภาษาทั้ง ทร. มีระยะเวลาการจัด ระหว่าง ๒-๓ วัน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ เช่น ดร.ราเชน มีศรี อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์มือถือหมายเลข ๐๘๑๘๖๐๖๒๘๒ หรือที่อีเมล์ rashanemeesri@gmail.com
๒. การจัดการด้านกระบวนการเรียนการสอน
๒.๑ การจัดทำตารางสอน
๒.๑.๑ ครูประจำชั้นเป็นผู้จัดทำตารางสอน โดยแบ่งเนื้อหาในตำราให้พอดีกับคาบสอนและเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน
๒.๑.๒ การจัดแบ่งคาบสอน จะแบ่งเป็น ๓ คาบต่อวัน เว้นวันพุธ ซึ่งเป็นวันกีฬาไม่ต้องจัดบทเรียน
๒.๑.๓ ครูประจำชั้นจัดคาบสอนให้พอดีกับจำนวนครูผู้สอน โดยต้องคำนึงถึงภารกิจการคุมสอบ PT ช่วงบ่ายวันจันทร์และวันพฤหัสบดี การจัดครูชาวต่างประเทศต้องไม่จัดตารางสอนช่วงบ่ายวันพุธและวันศุกร์
๒.๑.๔ การแบ่งเนื้อหา รายละเอียดในหนังสือตำรา ครูผู้สอนจะสอนต่อเนื่องกันไป
๒.๒ แนวทางการสอนตามทักษะทางภาษา
๒.๒.๑ ทักษะการฟัง
๒.๒.๒ ทักษะการพูด
๒.๒.๓ ทักษะการอ่าน
๒.๒.๔ ทักษะการพูด
๒.๓ ตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอนตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตร AELC ประกอบด้วย
๒.๓.๑ ตำรา AELC เล่ม ๑-๒-๓ พร้อมด้วย CD ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนซึ่ง ศภษ.ยศ.ทร. ได้รับการสนับสนุนจาก DITC กห.อต. โดยเนื้อหาในเล่ม ๑ จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เล่ม ๒ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นไปความรู้เกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย และเล่ม ๓ จะมีเนื้อหาที่เป็นทางทหาร มีข้อสังเกตว่าประการที่หนึ่ง นร. อยากเรียนตำราเล่ม ๓ เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่ตรงกับข้อสอบ ADFELPS ประการที่สอง นร. จะคิดว่าเสียเวลาเรียนเล่ม ๑ และ ๒ ทำให้มีเวลาได้เรียนเล่ม ๓ ไม่จบเล่ม อย่างไรก็ดี เนื้อหาของสองเล่มแรกไม่ควรถูกละเลยเนื่องจากเป็นการปรับพื้นความรู้ของผู้เรียนในทุกทักษะ วิธีแก้ไขอาจกระทำโดยให้ผู้เรียนยืมตำราเล่ม ๓ ไปศึกษาด้วยตนเอง ในกรณีที่หลักสูตรจะปิดแล้ว แต่ยังเรียนไม่จบเล่ม และจะต้องทำการสอบ ADFELPS ก่อนปิดหลักสูตร
๒.๓.๒ เนื่องจากเนื้อหาใน ADFELPS เน้นในเรื่องของประเทศออสเตรเลียและการทหารของออสเตรเลีย ครูผู้สอนจึงต้องนำเอา authentic material เช่น หนังสือพิมพ์ของออสเตรเลียและวีดิโอของกองทัพออสเตรเลีย มาเสริมการเรียนการสอน เพื่อให้ นร. คุ้นเคยกับทั้งเนื้อหา คำศัพท์เฉพาะ และสำเนียงของออสเตรเลียน ซึ่งจะสามารถช่วยให้ นร. เกิดความคุ้นเคยและความมั่นใจเวลาเข้าทดสอบ ADFELPS โดยสามารถกระทำได้ ๒ วิธี คือ ๑. หา reading passage หรือ listening file ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักสูตรในแต่ละบทนำมาเสริมในแต่ละชม. เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับเนื้อหา หรือ ๒. จัดชม. ฝึกทักษะต่างหากโดยกำหนดหัวข้อสำหรับ ชม. นั้นๆ เช่น Australian culture หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์
๒.๔ การปฐมนิเทศ การแนะนำการเรียนของหลักสูตร และแนวทางการสอบ ADFELPS
๒.๔.๑ การปฐมนิเทศจะกระทำในวันแรกของหลักสูตรโดยมีการชี้แจงวัตถุประสงค์และลักษณะการเรียนการสอนของหลักสูตรรวมถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของ ศภษ.ยศ.ทร. เพื่อให้เกิดการดำเนินการในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องระเบียบการลา เพื่อป้องกันปัญหาการขาดเรียน
๒.๔.๒ การแนะนำการเรียนของหลักสูตรจะกระทำในวันแรกหลังจากการปฐมนิเทศซึ่งมักจะดำเนินการโดย Course Coordinator โดยเป็นการทำความเข้าใจในเรื่องการเรียนการสอนของหลักสูตรซึ่งเน้นทั้ง ๔ ทักษะ และเป็นการเรียนบนพื้นฐานของ Communicative approachซึ่ง นร.จะต้องมีการทำงานกลุ่มหรือจับคู่สนทนาบ่อยครั้ง การชี้แจงเรื่องธรรมชาติการเรียนการสอนนี้มีความจำเป็นเนื่องจาก นร. ส่วนมากไม่เคยมีประสบการณ์ในการเรียนแบบนี้มาก่อน ประกอบกับ นร. มาจากหลากหลายชั้นยศ และ พื้นฐานการสร้างความเข้าใจว่าจะต้องมีปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันจะทำให้ นร.เข้าใจสถานการณ์และปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบนี้ได้ง่ายขึ้น
๒.๔.๓ การแนะแนวทางการสอบ ADFELPS เนื่องจาก นร. ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำข้อสอบ ADFELPS ซึ่งเป็นข้อสอบที่เน้นทั้ง ๔ ทักษะ จึงจำเป็นต้องมีการแนะนำให้ นร. รู้จักข้อสอบ และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือจะทำให้ นร. มีความตื่นตัวและเข้าใจวิธีการเรียนการสอนมากขึ้นเมื่อเห็นความสอดคล้องของวิธีการสอนและธรรมชาติข้อสอบ
๒.๕ การดำเนินการสอนและให้คำแนะนำนอกชั้นเรียน
๒.๕.๑ การดำเนินการสอน เน้น Communicative Approach ซึ่ง นร. จะต้องมีการทำงานกลุ่มหรือจับคู่สนทนา ครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมให้ นร. ได้ใช้ภาษาให้มากที่สุดโดยใช้หนังสือหลักคือ Australian English Language Course และใช้ authentic material ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในเล่ม และมีการกำหนดให้ นร. ทำ presentation ต่อหน้าชั้นเรียน
๒.๕.๒ การให้คำแนะนำนอกชั้นเรียนมักจะเกิดขึ้นเสมอเนื่องจากมีการมอบหมายงานให้ นร. เป็นรายบุคคลโดยเฉพาะงานเขียนทำให้ครูผู้สอนจะต้องให้คำปรึกษาในเรื่องงานมอบดังกล่าวนอกเวลาเรียนตลอดทั้งหลักสูตร
๒.๖ การประเมินผลการเรียนการสอน
การประเมินผลการเรียนการสอนจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียนทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ
๒.๖.๑ การประเมินแบบเป็นทางการเริ่มจาก pre-test ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อจัดระดับ นร. เข้าห้องและเพื่อจะได้ใช้วางแผนการสอนโดยใช้ข้อสอบ ADFELPS เก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทดสอบและระหว่างหลักสูตรจะมีการจัดสอบ Progress test ซึ่งจัดขึ้นเมื่อจบหนังสือแต่ละเล่มโดยใช้ข้อสอบADFELPS เก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทดสอบเช่นกันและเมื่อจบหลักสูตรจะมีการจัดทดสอบ ADFELPS ด้วยข้อสอบจริงนำผลไปใช้ได้จริง
๒.๖.๒ การประเมินแบบไม่เป็นทางการจะกระทำตลอดหลักสูตรโดยครูผู้สอน คือจะต้องมีการคอยดูพัฒนาการ นร. ในห้องเรียนและจากงานมอบและต้องมีการให้ feedback นร.ตลอดเวลา
๒.๗ การประเมินประสิทธิภาพการสอนและความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม
เมื่อจบหลักสูตรจะมีการประเมินประสิทธิภาพการสอนและความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมโดยจะดำเนินการโดย ผ.แผนฯ และมีการสรุปผลเสนอ ผอ.
๓. การจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องช่วยการศึกษา
๓.๑ การจัดห้องเรียน จะแบ่ง นร. ออกตามระดับคะแนนของผู้เรียนโดย นร. หลักสูตรนี้มักจะใช้ห้องเรียน ๕ และ ๖ ซึ่งในแต่ละห้องจะจัดวางเก้าอี้เป็นรูปตัวยูเพื่อให้สะดวกกับการจัดกลุ่ม นร.ทำกิจกรรมต่าง ๆ
๓.๒ การจัดสื่อการสอนในห้องเรียนจะมีคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายแผ่นทึบ ลำโพง จอ โปรเจคเตอร์ เพื่อให้สามารถรองรับสื่อการเรียนการสอนได้ทั้งการดูวีดีโอ ฟัง listening files ต่าง ๆ และการใช้เครื่องฉายแผ่นทึบจะทำให้สามารถวางเอกสารลงไปและเห็นได้ทั้งห้อง
๓.๓ การจัดแหล่งสืบค้นข้อมูล และเครื่องช่วยการศึกษาสำหรับการฝึกฝนด้วยตนเอง ครูผู้สอนจะแนะนำแหล่งสืบค้นข้อมูลโดยเฉพาะ website และ นสพ. ให้ตั้งแต่การแนะนำ ADFELPS เช่น www.ditc.net.au และ navy news ที่ได้มาจากสถานทูตออสเตรเลีย หรือพวกwebsites ของสื่อออสเตรเลียที่ นร. สามารถฝึกฟังได้ เช่น www.theage.com.au และจากกองทัพออสเตรเลีย เช่น www.defence.gov.au และมีการแนะนำหนังสือต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจด้านไวยากรณ์ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น Essential Grammar in Use และ Azar
๔. การจัดการด้านงบประมาณ
งบประมาณได้รับการจัดสรรตามโครงการศึกษา อบรม สัมมนา ใน ทร.






