การจัดการอบรมภาษาเพื่อนบ้าน
ความเป็นมา
ทร. มีนโยบายเสริมสร้างบุคลากรให้มีความรู้ด้านภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน และมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาลในการเร่งนำความสันติสุข และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศภษ.ยศ.ทร. จึงได้จัดทำแนวทางการจัดการอบรมภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่ข้าราชการเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ๗ ด้าน คือ การจัดการด้านครูผู้สอน การจัดทำหลักสูตร การจัดการด้านผู้เข้ารับการอบรม การจัดการด้านงบประมาณ การจัดการด้านกระบวนการเรียนการสอน การจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องช่วยการศึกษา และการจัดพิธีเปิด-ปิดการอบรม
๑.การจัดการด้านครูผู้สอน
๑.๑ การประสานครูผู้สอนและจัดทำหนังสือเชิญ แผนกศึกษาฯ จะประสานผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเชิญเป็นอาจารย์สอน และแผนกแผนและโครงการฯ จะมีหนังสือเชิญเป็นอาจารย์สอน โดยเสนอหนังสือเชิญดังกล่าวให้ ยศ.ทร. เพื่อให้ จก.ยศ.ทร. หรือผู้แทนลงนาม
๑.๒ การจัดครูประจำชั้น แผนกศึกษาฯ จะจัดครูภาษาเพื่อทำหน้าที่เป็นครูประจำชั้นเพื่อกำกับดูแลการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักสูตร ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารประกอบการสอน การจัดตารางสอน กำกับดูแลผู้เข้ารับการอบรม รวมทั้งประสานงานกับอาจารย์ผู้สอน
๒.การจัดทำหลักสูตร แผนกศึกษาฯ จะจัดทำหลักสูตรร่วมกับอาจารย์ผู้สอนโดยให้เป็นไปตามนโยบาย ทร. และเสนอ ยศ.ทร. เพื่อขอความเห็นชอบหลักสูตร
๓.การจัดการด้านผู้เข้ารับการอบรม
๓.๑ การประสานหน่วยที่ใช้ภาษาเพื่อนบ้านในการปฏิบัติงาน
– การประสานหน่วยก่อนการจัดทำงบประมาณโครงการศึกษาฯ ประจำปี แผนและโครงการฯ จะมีโทรเลขถึงหน่วยเกี่ยวข้องที่ต้องใช้ภาษาเพื่อนบ้านในการปฏิบัติงาน คือ ขว.ทร. สสท.ทร. กร. ทรภ.๑ ทรภ.๒ ทรภ.๓ นย. สอ.รฝ. และ กรม สห.ทร. เพื่อขอทราบจำนวนข้าราชการที่จะส่งเข้ารับการอบรม เมื่อทราบจำนวนความต้องการจากแต่ละหน่วยแล้ว แผนกแผนและโครงการฯ จะรวบรวมรายละเอียดดังกล่าวเสนอ ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. ในการประชุมหารือร่วมกับ รอง ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. หน.ศึกษาฯ และ หน.แผนและโครงการฯ เพื่อกำหนดหลักสูตรภาษาเพื่อนบ้านที่จะเปิดการอบรม รวมทั้งวันเวลาในการเปิดการอบรม
– การประสานเมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการศึกษาฯ ประจำปีแล้ว แผนกแผนและโครงการฯ จะมีโทรเลขแจ้งให้หน่วยส่งรายชื่อข้าราชการที่จะเข้ารับการอบรมภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อรวบรวมและดำเนินการเสนอ ยศ.ทร. ขออนุมัติให้ข้าราชการเข้ารับการอบรม และ จะมีโทรเลขแจ้งรายชื่อผู้เข้ารับการอบรมและกำหนดการเปิดอบรมไปยังหน่วยต้นสังกัดอีกครั้ง
๓.๒ การดำเนินการจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน แผนกบริการฯ จะประสานกับผู้ประกอบการโดยแจ้งจำนวนของผู้เข้ารับการอบรมอาจารย์ผู้สอน และผู้ดูแลในแต่ละหลักสูตร โดยงบประมาณในการจัดเลี้ยงดังกล่าว คืออัตรา ๘๐.-บาท/คน
๔.การจัดการด้านงบประมาณ
๔.๑ การเสนอของบประมาณในโครงการศึกษาฯ ประจำปี ศภษ.ยศ.ทร. เสนอของบประมาณในการเปิดการอบรมภาษาเพื่อนบ้านในโครงการศึกษาฯ ประจำปี โดยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วยค่าสอน /ค่าสมนาคุณวิทยากร ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด – ปิดการอบรม ค่าอาหารในการฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับการอบรม (เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เบิกจ่าย) รวมทั้งค่าใช้จ่ายกลุ่มที่ ๒ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการอบรมต่าง ๆ (สาย พธ.ทร. และ ยศ.ทร.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
๔.๑.๑ ค่าสมนาคุณวิทยากร ๘๐๐.-บาท/ชั่วโมง
๔.๑.๒ ค่าอาหารในการอบรม ๘๐.-บาท/คน
๔.๑.๓ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับการอบรม
– ค่าเบี้ยเลี้ยง (น.อ.ลงมา) ๑๖๐.-บาท สำหรับวันงาน และ ๒๔๐.-บาท สำหรับวันหยุดราชการ
– ค่าเช่าที่พัก (น.อ.ลงมา) เหมาจ่าย ๒๐๐.-บาท/คน/วัน
– ค่าพาหนะ เป็นไปตามอัตราค่าโดยสารสาธารณะจากหน่วยที่ตั้ง
๔.๑.๔ ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด – ปิดการอบรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
– ค่าตกแต่งสถานที่
– ค่าอาหารว่างเครื่องดื่มผู้เข้าร่วมพิธี
– ค่าเครื่องดื่มวิทยากรระหว่างการอบรม
๔.๑.๕ ค่าใช้จ่ายกลุ่มที่ ๒ แผนกแผนและโครงการ ฯ จะขอรายการราคาพัสดุต่อหน่วยจากแผนกบริการ ฯ เพื่อคิดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการอบรมสำหรับแต่ละหลักสูตร
๔.๒ การเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
๔.๒.๑ ค่าสอน/ค่าสมนาคุณวิทยากร
– ตรวจสอบชั่วโมงการสอนของวิทยากรในแต่ละเดือน แล้วคำนวณยอดเงิน
– ทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินทดรองจ่าย พร้อมกับออกเลขทะเบียนคุมใบยืมเงินทดรองจ่าย เสนอ ยศ.ทร. ก่อน ๑๕ วันทำการ
– ประสานกับ กง.ยศ.ทร. เพื่อขอรับเงินยืมทดรองจ่าย
– ลงบัญชีจ่ายเงินตามรายชื่อหลักสูตรให้กับวิทยากร โดยออกใบเสร็จรับเงินให้วิทยากรไว้เป็นหลักฐาน
– ทำบันทึกขอเบิกผลักใช้ และนำส่งคืนเงินค่าสมนาคุณวิทยากร (ถ้ามี) พร้อมกับออกเลขทะเบียนคุมใบนำส่งเงิน (ถ้ามี)
– ติดตามการขอเบิกผลักใช้เงินยืมทดรองจ่าย ว่าเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้วหรือไม่
๔.๒.๒ ค่าอาหารในการอบรม
– ตรวจสอบจำนวนวัน และจำนวนผู้รับประทานอาหารให้ถูกต้องในแต่ละเดือนแล้วคำนวณยอดเงิน
– ทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินทดรองจ่าย พร้อมกับออกเลขทะเบียนคุมใบยืมเงินทดรองจ่าย เสนอ ยศ.ทร. ก่อน ๑๕ วันทำการ
– ประสานกับ กง.ยศ.ทร. เพื่อขอรับเงินยืมทดรองจ่าย
– เฉลี่ยจ่ายเงินค่าอาหารให้ผู้ประกอบการจัดเลี้ยง ๓ งวดต่อเดือน
– ลงบัญชีจ่ายเงินตามรายชื่อหลักสูตรให้ผู้ประกอบการเซ็นต์รับไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับขอรับใบเสร็จรับเงินจากผู้ประกอบการจัดเลี้ยง
– ทำบันทึกขอเบิกผลักใช้และนำส่งคืนเงินค่าอาหาร (ถ้ามี) พร้อมกับออกเลขทะเบียนคุมใบนำส่งเงิน (ถ้ามี)
– ติดตามการขอเบิกผลักใช้เงินยืมทดรองจ่าย ว่าเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้วหรือไม่
๔.๒.๓ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับการอบรม
– ตรวจสอบสังกัดของผู้เข้ารับการอบรม ว่ามีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายได้ ตามระเบียบปฏิบัติของ กง.ทร. หรือไม่
– ตรวจสอบค่าพาหนะของผู้เข้ารับการอบรม ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่
– ทำบันทึกขออนุมัติเบิกประมาณการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของผู้เข้ารับการอบรมเสนอ ยศ.ทร. ล่วงหน้า ๑ เดือน
– ตรวจสอบใบเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของผู้เข้ารับการอบรม ว่าถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนมีการหักจำนวนวันลาหรือไม่ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุมัติจ่ายเงิน
– ประสานกับ กง.ยศ.ทร. ขอรับเงินเบิกประมาณการ
– ลงบัญชีจ่ายเงินเป็นรายบุคคลให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม
– ทำบันทึกขอเบิกผลักใช้เงินประมาณการ และนำส่งเงินประมาณการ ส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) พร้อมกับออกเลขทะเบียนคุมใบนำส่งเงิน (ถ้ามี)
– ติดตามการขอเบิกผลักใช้เงินประมาณการ ว่าเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้วหรือไม่
๔.๒.๔ ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด – ปิด
– ตรวจสอบงบประมาณค่าดอกไม้ธูปเทียน และค่าตกแต่งสถานที่กับแผนกแผนและโครงการฯ แล้วสอบถามแผนกบริการฯ ค่าใช้จ่ายจริง
– นับจำนวนวันสอนของวิทยากรในแต่ละเดือน เพื่อเบิกค่าเครื่องดื่ม ยกเว้น วันพิธีเปิด – ปิดหลักสูตร
– ประสานกับแผนกแผนและโครงการฯ ขอทราบจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีเปิด
– ปิดหลักสูตรเพื่อขอเบิกค่าเครื่องดื่ม
– ทำบันทึกขอเบิกค่าใช้จ่ายพิธีเปิด
– ปิดหลักสูตรเสนอ ยศ.ทร. ในโอกาสแรก
– ติดตามขอรับเงินค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด – ปิดหลักสูตรจาก กง.ยศ.ทร.
๕. การจัดการด้านกระบวนการเรียนการสอน
๕.๑ การจัดพิมพ์ตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอน
– ครูประจำชั้นขอตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอนจากครูผู้สอน
– ครูประจำชั้นสำเนาต้นฉบับ ๒ ชุด โดยสำเนาชุดที่ ๑ สำหรับเก็บไว้ที่แผนกศึกษาฯ และสำเนาชุดที่ ๒ สำหรับจัดทำตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอน
– ครูประจำชั้นประสานกับเจ้าหน้าที่คลังตำรา แผนกบริการฯ เพื่อให้ประสานต่อกับ กบศ.ยศ.ทร. เพื่อขอรับการสนับสนุนการจัดพิมพ์ตำราต่อไป
๕.๒ การจัดทำตารางสอน
– ครูประจำชั้นประสานขอตารางสอนจากครูผู้สอนเป็นรายสัปดาห์/เดือน/ตลอดหลักสูตร โดยครูผู้สอนแต่ละท่านจะรับผิดชอบสอนในทักษะที่แตกต่างกันไปตามแต่จะตกลงกันภายในกำหนดเวลาที่เปิดอบรมหลักสูตร
– ครูประจำชั้นจัดพิมพ์ตารางสอนและปิดประกาศในชั้นเรียน
๕.๓ การปฐมนิเทศและการแนะนำการเรียนของหลักสูตร
– ศภษ.ยศ.ทร. จะทำการปฐมนิเทศในวันแรกของการเปิดอบรมหลักสูตรตามระเบียบของ ศภษ.ยศ.ทร. โดยชี้แจงให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบถึงการปฏิบัติตนในระหว่างการอบรม และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียน การสอบ
– หลังจาก ศภษ.ยศ.ทร. ปฐมนิเทศแล้วครูผู้สอนจะนำนักเรียนมาที่ห้องเรียนประจำ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของหลักสูตร ตำราประกอบการเรียนการสอน ตารางสอน และระเบียบต่าง ๆ อีกทั้งชี้แจงปัญหาและข้อสงสัยของผู้เข้ารับการอบรม
๕.๔ การประเมินผลการเรียนการสอน
– มีการวัดผลและประเมินผลจากการสอบความรู้ทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีการสอบทั้งข้อเขียนและปากเปล่า
– ผู้เข้ารับการอบรมต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า ๖๐% สำหรับหลักสูตรภาษาพม่า ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า ๘๕% ของเวลาที่เรียนจริงด้วย
– สำหรับหลักสูตรภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เข้ารับการอบรมต้องผ่านเกณฑ์การประเมินนักเรียนรายบุคคลจากครูผู้สอนด้วย
๕.๕ การประเมินประสิทธิภาพการสอนและความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม
– แผนกแผนและโครงการฯ จะแจกจ่ายแบบการประเมินประสิทธิภาพการสอนและความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม ให้กับผู้เข้ารับการอบรม ประมาณ ๑ สัปดาห์ก่อนปิดหลักสูตร เพื่อให้ประเมินหลักสูตร ผู้สอน และปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนและสภาพแวดล้อม
๕.๖ การปัจฉิมนิเทศ
– ก่อนวันปิดหลักสูตร ศภษ.ยศ.ทร. จะทำการปัจฉิมนิเทศผู้เข้ารับการอบรม โดยสอบถามถึงข้อเสนอแนะและข้อขัดข้องเกี่ยวกับหลักสูตรที่เข้ารับการอบรม เพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไข ให้เหมาะสมในโอกาสต่อไป
๖. การจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องช่วยการศึกษา
๖.๑ การจัดห้องเรียน
– ทำความสะอาดและตรวจดูความเรียบร้อยของห้องเรียน จัดเตรียมโต๊ะและเก้าอี้ ตามจำนวนนักเรียนแต่ละหลักสูตร โดยประสานกับแผนกศึกษาฯ
– ตรวจสอบการทำงานเครื่องปรับอากาศโดยปรับแต่งอุณหภูมิให้ได้ตามที่กำหนด พร้อมตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายในห้อง
– จัดเตรียมอุปกรณ์ใช้ประจำห้องเรียน เช่น ปากกาไวท์บอร์ด แปรงลบกระดาน กระดานไวท์บอร์ด และอื่น ๆ ให้พร้อมใช้งาน
– จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบและทำความสะอาดห้องเรียนเป็นประจำทุกวัน
๖.๒ การจัดสื่อการสอน
– จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนไว้ประจำห้องเรียน เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ดีวีดี วิทยุเทปกระเป๋าหิ้ว และพร้อมให้การสนับสนุนเครื่องช่วยการศึกษาเพิ่มเติมตามที่แผนกศึกษาฯ ร้องขอ เช่น เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ จอรับภาพ และ Visualizer เป็นต้น
– จัดเตรียมเอกสารตำราเพื่อใช้ประกอบการเรียนและการสอนในแต่ละหลักสูตร
๖.๓ การจัดแหล่งสืบค้นข้อมูล และเครื่องช่วยการศึกษาสำหรับการฝึกฝนด้วยตนเอง
– เจ้าหน้าที่คลังตำรา พร้อมให้บริการด้านหนังสือเอกสาร แผ่นบันทึกข้อมูลสื่อ การเรียนการสอนที่พร้อมใช้งานเพื่อให้นักเรียนได้ยืม
– มีเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งระบบเครือข่าย จำนวน ๕ เครื่อง และเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท จำนวน ๒ เครื่อง ประจำที่ห้องสมุด พร้อมใช้งานสำหรับให้นักเรียนใช้สืบค้นข้อมูลและฝึกฝนตนเอง
๗. การจัดพิธีเปิด – ปิดการอบรม
๗.๑ การจัดทำหนังสือเชิญผู้บังคับบัญชาและผู้แทนหน่วย แผนกแผนและโครงการฯ จะมีหนังสือเพื่อเรียนเชิญ จก.ยศ.ทร. เป็นประธานในพิธี และเมื่อ จก.ยศ.ทร. กรุณาตอบรับหรือมอบหมายให้ผู้แทนเป็นประธานในพิธี แผนกแผนและโครงการฯ จะจัดทำโอวาทเสนอ เพื่อให้ประธานกล่าวในพิธี พร้อมกันนี้ แผนกแผนและโครงการฯ จะมีหนังสือเรียนเชิญผู้บังคับบัญชา และหนังสือเชิญผู้แทนหน่วยที่ส่งข้าราชการเข้ารับการอบรมเพื่อร่วมเป็นเกียรติในพิธี
๗.๒ การดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ พิธีการ และการจัดเลี้ยง แผนกบริการฯ จะจัดเตรียมสถานที่และการจัดเลี้ยง และแผนกธุรการฯ จะมีหนังสือขอรับการสนับสนุนการบันทึกภาพวีดีทัศน์ ภาพนิ่ง และเครื่องขยายเสียงพร้อมเจ้าหน้าที่จาก กบศ.ยศ.ทร. รวมทั้งมีหนังสือเชิญ อศจ.เป็นผู้ดำเนินการด้านพิธีการ
๗.๓ การจัดทำประกาศนียบัตร แผนกธุรการฯ และแผนกศึกษาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของยศ ชื่อ สกุล ของผู้เข้ารับ การอบรมและแผนกธุรการฯ จะเสนอเรื่องให้ กบศ.ยศ.ทร. จัดทำประกาศนียบัตร เมื่อ กบศ.ยศ.ทร. จัดทำประกาศนียบัตรแล้ว แผนกธุรการฯ จะเสนอให้ ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. ลงนาม และเสนอ ยศ.ทร. เพื่อให้ จก.ยศ.ทร.ลงนาม







รายละเอียดมีประโยชน์ในการพัฒนาหลักสูตรในปีต่อๆไปค่ะ
ข้อมูลมีประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ