การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร American Language Course (ALC)

 ชื่อเรื่อง องค์ความรู้ด้านการสอนและการประเมินผลหลักสูตร

American Language Course

ลำดับ

 

             OPK57/_ _ _ _  
วันที่เขียน

 

   
หน่วยงาน หน่วยงาน:แผนกศึกษา

นขต: ศูนย์ภาษา

กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ผู้เขียน ผู้ตรวจสอบ ผู้อนุมัติ
     
__ / __ / __ __ / __ / __ __ / __ / __

 

วัตถุประสงค์  เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตร American Language Course ให้ได้ผลสูงสุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีหน้าที่บริหาร ควบคุม กำกับดูแลหลักสูตร

เนื้อหา

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร American Language Course

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร American Language Course (ALC) หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน  มีแนวทางการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ด้าน คือ การจัดการด้านครูผู้สอน        การจัดการด้านกระบวนการเรียนการสอน  การจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องช่วยการศึกษา และการจัดการด้านงบประมาณ

๑. การจัดการด้านครูผู้สอน

๑.๑  การจัดครูประจำหลักสูตรและครูผู้สอน

หน.ศึกษา ศภษ.ยศ.ทร. จะมอบหมายให้ครูภาษาเป็นครูประจำหลักสูตรและครูผู้สอน และ    จะเชิญประชุมหารือและวางแผนการสอนในภาพรวม  โดยคุณสมบัติของครูประจำหลักสูตรมีดังนี้

–   เป็นครูภาษาที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Basic American Language Instructor Course (BALIC) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ตามโครงการ IMET ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษโดยใช้ตำรา  ALC  เป็นหลัก ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะมีความคุ้นเคยกับตำรารวมทั้งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับที่สามารถจะแนะนำหลักสูตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้

– สามารถให้คำแนะนำลักษณะของข้อสอบ ALCPT/ECL และการเตรียมตัวเพื่อการสอบดังกล่าว

–          สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการเรียนของผู้เข้ารับการอบรม  เพื่อการพัฒนาทางการเรียน          ผู้เข้ารับการอบรมคนใดต้องการการสอนเสริมในทักษะใดเป็นพิเศษ และจัดเตรียมเอกสารข้อมูลที่จะใช้ในการฝึก   เพิ่มเติมได้

–   ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น จัดเตรียมตารางสอนให้กับครูผู้สอน  จัดเตรียมตำราและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับครูผู้สอน  จัดเตรียมตำรา และพจนานุกรม       ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เบิกยืมใช้ในระหว่างเรียน

– สามารถให้คำแนะนำแก่ครูผู้สอน เช่น ปัญหาด้านการสอนและแนะนำแหล่งค้นคว้าข้อมูล     ที่จะนำมาสอน  รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ เช่น จัดครูท่านอื่นเพื่อสอนแทนครูผู้สอนที่มาสอนไม่ได้ หรือพร้อมที่จะสอนด้วยตนเอง

๑.๒ การมอบหมายงานของครูประจำหลักสูตร

ครูประจำหลักสูตรจะมอบหมายงานให้กับครูผู้สอน โดยก่อนการดำเนินการดังกล่าว          ครูประจำหลักสูตรจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

– จัดเตรียมรายชื่อผู้เข้ารับการอบรม และหลักสูตรที่ผู้เข้ารับการอบรมจะไปศึกษา พร้อมทั้งเกณฑ์คะแนนผ่านของแต่ละหลักสูตร

– พิจารณาคะแนน ALCPT ของผู้เข้ารับการอบรม    โดยหาค่าเฉลี่ยของคะแนนเพื่อกำหนดว่าจะใช้ตำรา ALC เล่มใด

– แจกจ่ายรายชื่อผู้เข้ารับการอบรมพร้อมด้วยคะแนน  ALCPT  ของผู้เข้ารับการอบรมให้แก่ครูผู้สอน

– แจ้งครูชาวต่างประเทศ  ให้ทราบถึงกำหนดเปิดหลักสูตร คะแนน ALCPT ของผู้เข้ารับ    การอบรม และตำรา ALC เล่มที่จะใช้สอน

– จัดทำตารางสอน โดยต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่ควบคุมการสอบ PT ในช่วงบ่ายของ        วันจันทร์และวันพฤหัสบดี การออกไปสอนนอกหน่วยในตอนบ่ายของวันอื่นๆ ในสัปดาห์ของผู้สอนด้วย

– แจกจ่ายตารางสอนให้แก่ครูผู้สอนทุกคน และมอบให้ หน.ศึกษา  ศภษ.ยศ.ทร.  เพื่อเสนอ ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. ต่อไป

– ประสานงานกับแผนกบริการ เพื่อให้ดำเนินการจัดห้องเรียน  จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการสอน เช่น ห้องปฏิบัติการทางภาษา  เครื่องเล่น CD/DVD  จอภาพ  โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

ทั้งนี้  ครูประจำหลักสูตรอาจมอบหมายให้ครูผู้สอนสอนแทนครูที่มาสอนไม่ได้ หรือจัดตนเองเพื่อสอนแทน

๑.๓ การพัฒนาครูผู้สอน

๑.๓.๑ จัดส่งครูผู้สอนไปอบรม หรือเข้าร่วมสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ณ สถาบันการศึกษาที่เปิดให้มีกิจกรรมดังกล่าว เช่น การอบรมการออกเสียง การประชุมทางวิชาการ  ที่จัดโดยสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง เป็นต้น โดยสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์  ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

๑.๓.๒ จัดส่งครูภาษาไปศึกษาตามหลักสูตรโครงการ  IMET ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ดังต่อไปนี้

๑.๓.๒.๑ หลักสูตร Basic American Language Instructor Course (BALIC)         มีระยะเวลาศึกษาประมาณ  ๗  เดือน  (๒๗ สัปดาห์)

๑.๓.๒.๒ หลักสูตร Advanced English Language Instructor Course (AELIC)     มีระยะเวลาศึกษาประมาณ ๔ เดือน

๑.๓.๓ ศภษ.ยศ.ทร. จัดอบรมความรู้ด้านการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาครูภาษาของ        ศภษ.ยศ.ทร.และสถานศึกษาอื่นใน ทร.  มีระยะเวลาการจัดอบรม ๒-๓ วัน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้

 

๒. การจัดการด้านกระบวนการเรียนการสอน

๒.๑ การจัดทำตารางสอน

๒.๑.๑ ครูประจำหลักสูตรเป็นผู้จัดทำตารางสอน โดยแบ่งเนื้อหาในตำราให้เหมาะสมกับเวลาและระดับความสามารถทางภาษาของผู้เรียน

๒.๑.๒ การจัดแบ่งคาบสอน แบ่งเป็น ๓ คาบต่อวัน ยกเว้นวันพุธ ซึ่งเป็นวันกีฬาไม่ต้องจัดบทเรียนภาคบ่าย

๒.๑.๓ ครูประจำหลักสูตรจัดคาบสอนให้เหมาะสมกับจำนวนครูผู้สอน  โดยต้องคำนึงถึงภารกิจการคุมสอบ PT ในช่วงบ่ายวันจันทร์และวันพฤหัสบดีของครูผู้สอน  รวมทั้งการจัดครูชาวต่างประเทศเข้าสอนต้องไม่จัดตารางสอนช่วงบ่ายวันพุธและวันศุกร์

๒.๑.๔ การแบ่งเนื้อหา รายละเอียดในตำรา ครูผู้สอนแต่ละคนจะสอนต่อเนื่องกันไป

๒.๒ แนวทางการสอนตามทักษะทางภาษา

การจัดชั้นเรียนหลักสูตร ALC โดยปกติ จะแบ่งเป็น ๒ ห้องเรียน มีวิธีการจัดชั้นเรียนโดยจัด    ผู้ที่ ทร. คัดเลือกให้เป็นตัวจริงและตัวสำรองเพื่อไปศึกษาหลักสูตรต่างๆ ตามโครงการ IMET  ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  เข้าชั้นเรียนตามระดับคะแนนที่ได้  โดยคิดค่าคะแนน PT  เฉลี่ยของผู้เข้ารับการอบรม โดยเน้นคะแนน  PT  ของผู้เข้ารับการอบรมตัวจริงเป็นเกณฑ์  เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดตำราเล่มที่เหมาะสมกับคะแนน PTของผู้เข้ารับการอบรม

๒.๒.๑ การสอนตามทักษะทางภาษา  จะมีการสอน ๔ ทักษะ คือ ทักษะการฟัง ทักษะการพูดทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน

๒.๒.๒ การสอบ

๒.๒.๒.๑ ระหว่างหลักสูตรจะใช้แบบทดสอบประจำเล่ม  โดยจัดเก็บแบบทดสอบไว้ใน     ตู้เหล็กซึ่งล็อคกุญแจในห้องของ  รอง ผอ.ศภษ.ยศ.ทร.  ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจสำหรับไขตู้เก็บแบบทดสอบดังกล่าว   ดังนั้นผู้ควบคุมการทดสอบจะต้องจัดเตรียมแบบทดสอบให้เรียบร้อยก่อนวันทดสอบอย่างน้อย ๑ วัน โดยมาขอกุญแจจาก รอง ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. เพื่อเปิดตู้เก็บแบบทดสอบ ซึ่งเมื่อทำการทดสอบแล้ว จะต้องเสนอผลคะแนนให้ หน.ศึกษา      ศภษ.ยศ.ทร. ทราบ

๒.๒.๒.๒  ในการสอบ ALCPT/ECL  แบ่งออกเป็น  ๒ ส่วน  ได้แก่  การฟัง และการอ่าน  ข้อสอบแต่ละส่วนจะประกอบไปด้วยการทดสอบคำศัพท์  หลักไวยากรณ์  การนำไปใช้  และสำนวนภาษาอังกฤษต่างๆ  เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมคุ้นเคยกับทั้งเนื้อหา  คำศัพท์เฉพาะ  และสำเนียงของอเมริกัน  ครูผู้สอนสามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมคุ้นเคยและมั่นใจเมื่อเข้าทดสอบ  ALCPT/ECL  โดยสามารถกระทำได้  ๒  วิธี  คือ

– เตรียมแบบฝึกหัดการอ่าน และการฟัง เกี่ยวกับเนื้อหาของหลักสูตรใน      แต่ละบท  มาเสริมการเรียนการสอนในแต่ละ ชม.  เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา

– จัด  ชม.  ฝึกทักษะแยกต่างหาก โดยกำหนดหัวข้อสำหรับ ชม. นั้น ๆ      ตามความเหมาะสม

๒.๓   ตำราและเอกสารประกอบการเรียนการสอน

ตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตร ALC ประกอบด้วยตำรา ALC พร้อมด้วย เทป หรือ ซีดี ประกอบตำราซึ่ง ศภษ.ยศ.ทร. ได้รับการสนับสนุนจาก จม. ไทย/กห. สหรัฐอเมริกา  โดยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน  ความรู้เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื้อหาทางทหาร  ความรู้เกี่ยวกับหลักไวยากรณ์และสำนวนภาษาอังกฤษ

๒.๔ การปฐมนิเทศ  การแนะนำการเรียนของหลักสูตร  และแนวทางการสอบ ALCPT/ECL

๒.๔.๑ การปฐมนิเทศจะกระทำในวันแรกของหลักสูตร ข้าราชการ ศภษ.ยศ.ทร. ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงวัตถุประสงค์  ลักษณะการเรียนการสอนของหลักสูตร รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของ          ศภษ.ยศ.ทร.  เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

๒.๔.๒ การแนะนำการเรียนของหลักสูตรจะกระทำในวันแรกหลังจากการปฐมนิเทศ  โดยครูประจำหลักสูตร  จะชี้แจงและทำความเข้าใจในเรื่องการเรียนการสอนของหลักสูตร ซึ่งในระหว่างศึกษาอบรมผู้เข้ารับ  การอบรมจะต้องทำงานกลุ่มหรือจับคู่สนทนาบ่อยครั้ง  โดยการชี้แจงเรื่องธรรมชาติของการเรียนการสอนนี้ มีความจำเป็น  เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งมีความหลากหลายทางด้านชั้นยศ และส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเรียนเช่นนี้       มาก่อน เข้าใจสถานการณ์  และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น

๒.๔.๓ การแนะแนวทางการสอบ ALCPT/ECL  เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมอาจไม่เคยมีประสบการณ์ในการสอบ ECL  และเพื่อให้การสอบ ALCPT มีผลคะแนนในระดับที่ดี  จึงจำเป็นต้องมีการแนะนำผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับลักษณะข้อสอบ ECL  ซึ่งเป็นข้อสอบที่เน้นการฟังและการอ่าน  และต้องใช้ความรู้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากตำรา ALC รวมทั้งแนะนำการทำข้อสอบ ALCPT ให้ได้คะแนนสูง

๒.๕ การดำเนินการสอนและให้คำแนะนำนอกชั้นเรียน

ผู้เข้ารับการอบรมสามารถขอคำแนะนำจากครูผู้สอนนอกชั้นเรียน  และครูผู้สอนอาจอธิบายเพิ่มเติมหรือตอบคำถามนอกชั้นเรียนด้วย  และในบางกรณีจะมีการสอนเสริมผู้เข้ารับการอบรมที่มีระดับภาษาอังกฤษต่ำกว่าผู้เข้ารับการอบรมอื่นในชั้นเรียน

๒.๖ การประเมินผลการเรียนการสอน

การประเมินผลการเรียนการสอนจะมีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

๒.๖.๑ การประเมินแบบเป็นทางการ  เริ่มจากการสอบ PT เพื่อจัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษของผู้เข้ารับการอบรม  ระหว่างหลักสูตรจะมีการจัดสอบ Progress test หลังจากเรียนหนังสือแต่ละเล่มจบ  โดยใช้แบบทดสอบประจำเล่ม (Book Quiz)  และก่อนสิ้นสุดการอบรมจะจัดทดสอบ ALCPT  เพื่อประเมินผลการเรียนตลอดหลักสูตร

๒.๖.๒ การประเมินแบบไม่เป็นทางการจะกระทำตลอดหลักสูตร โดยครูผู้สอนจะศึกษาพัฒนาการของผู้เข้ารับการอบรมในห้องเรียน  และให้งานมอบรวมทั้งตรวจสอบ แก้ไข และวิจารณ์งานนั้นให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมตลอดหลักสูตร

๒.๗ การประเมินประสิทธิภาพการสอนและความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม

เมื่อจบหลักสูตร  จะมีการประเมินประสิทธิภาพการสอน  และความพึงพอใจของผู้เข้ารับ    การอบรม  โดยแผนกแผนและโครงการ ศภษ.ยศ.ทร. เป็นผู้ดำเนินการและสรุปผลเสนอ ผอ.ศภษ.ยศ.ทร. ต่อไป

๓.       การจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องช่วยการศึกษา

๓.๑ การจัดห้องเรียน จะแบ่งผู้เข้ารับการอบรมตามระดับคะแนน PT ของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งในแต่ละห้องจะจัดวางเก้าอี้ตามความเหมาะสมกับจำนวนผู้เข้ารับการอบรม และกิจกรรมต่างๆ

๓.๒ การจัดสื่อการสอน  ในห้องเรียนจะจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายแผ่นทึบ ลำโพง จอ โปรเจคเตอร์  เพื่อให้สามารถรองรับสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ได้

๓.๓ การจัดแหล่งสืบค้นข้อมูล และเครื่องช่วยการศึกษาสำหรับการฝึกฝนด้วยตนเอง  ครูผู้สอนจะแนะนำแหล่งสืบค้นข้อมูลโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์  เช่น www.dlielc.edu  รวมทั้งมีหนังสือต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจด้านไวยากรณ์  และสำนวนภาษาอังกฤษต่างๆ มากขึ้น เช่น หนังสือ Essential Grammar in Use และ ALC Book of Idioms

๔. การจัดการด้านงบประมาณ งบประมาณได้รับการจัดสรรตามโครงการศึกษา อบรม ประชุม และสัมมนาของหน่วยต่างๆ ใน ทร. ประจำปี  ซึ่งแผนกแผนและโครงการ ศภษ.ยศ.ทร.  มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเสนอความต้องการโครงการศึกษาของ ทร. ประจำปี

  

วันที่สอน              
ผู้สอน              
ผู้เรียน              
ผลการเรียนรู้              

 ALC(2)

(เยี่ยมชมทั้งหมด 4,443 ครั้ง, วันนี้ 1 ครั้ง)
Facebooktwittergoogle_plusredditpinterestlinkedinmail

8 thoughts on “การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร American Language Course (ALC)

  1. ข้อมูลดังกล่าวถือได้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับการเผยแพร่ให้ข้าราชการกองทัพเรือที่สนใจฝึกฝนภาษาอังกฤษหลักสูตรดังกล่าว ได้ศึกษาก่อนการเข้ารับการฝึกอบรม

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

ข้ามไปยังทูลบาร์