ราชนาวิกสภา, ประวัติ

 ราชนาวิกสภา

ถือกำเนิดขึ้นด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และน้ำพระทัยที่เอื้ออาทรต่อกำลังพลใต้การบังคับบัญชาของ จอมพลเรือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะดำรงตำแหน่งเป็น เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้ทรงมีบันทึกความเห็นเสนอ กระทรวงทหารเรือ ว่าควรจัดตั้งสโมสรเทียบ “Royal Naval Institute”

เพื่อเป็นสำนักที่จะอำนวยการฝึกฝน นายทหารให้มีความรู้วิชาการทหารเรือยิ่งขึ้น และเป็นสถานที่สำหรับศึกษา หรือแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ในวิทยาการอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการในหน้าที่ กับทั้งให้มีบรรณาคมเป็นที่รวบรวมหนังสือซึ่งเหล่าทหารเรือจะได้ใช้อ่านหรือศึกษา และเป็นที่พักเวลาว่างราชการด้วย

ในเวลาต่อมา กระทรวงทหารเรือ ได้ลงคำสั่งตั้ง

“ราชนาวิกะสภา”

 เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ 

โดยมี

จอมพลเรือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็นผู้ลงพระนามในคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๕๘

ให้อยู่ใน แผนกที่ ๘ ของกรมเสนาธิการทหารเรือ

และอนุญาตให้เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ มีอำนาจจัดวางระเบียบการภายในสภาได้ทุกประการ

ในสมัยแรกก่อตั้ง

จอมพลเรือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ทรงให้เกียรติรับเป็นผู้อำนวยการพิเศษ และเป็น สภาปถัมภก” 

 

พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

เมื่อครั้งดำรงพระยศพลเรือตรี ทรงให้เกียรติรับเป็น

ผู้อำนวยการ”  

และ

พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน)

เมื่อครั้งดำรงยศ นาวาโท ได้ให้เกียรติรับเป็น

ประธานกรรมการจัดวางระเบียบกิจการราชนาวิกสภา

 

**ราชนาวิกะสภา มีที่ทำการอยู่ที่บ้านเดิมของ พระอินทรเทพ (ทัพ) ภายหลังจากเป็นของพระคลังข้างที่ และได้เปลี่ยนแปลงชื่อจาก “ราชนาวิกะสภา” เป็น “ราชนาวิกสภา

 

การดำเนินกิจการของราชนาวิกสภาในระยะเริ่มแรก แบ่งออกเป็น ๖ แผนก ประกอบด้วย

  • แผนกห้องสมุด มีหน้าที่จัดหา เก็บรวบรวมหนังสือทุกประเภท ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่นายทหาร

ในการที่จะนำไปศึกษา และค้นคว้าเกี่ยวกับทหารเรือ

  • แผนกนาวิกศาสตร์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการบรรยายวิทยาการต่างๆ เรียบเรียงเรื่องบรรยาย กับตรวจเรื่องซึ่งมีผู้แต่งให้ลงในนิตยสารของราชนาวิกสภา ซึ่งนิตยสารนี้ให้ชื่อว่า “นาวิกศาสตร์” ได้พิมพ์ออกเป็นฉบับแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๖๐ เพื่อเผยแพร่วิชาความรู้เกี่ยวกับการทหารเรือ
  • แผนกกีฬา มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการกีฬาต่างๆ รวมทั้งกีฬากลางแจ้งและในร่ม
  • แผนกการเงินและของขาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการขายของ เช่นอาหาร เครืองดื่ม และของใช้ กับมีหน้าที่ในการเก็บรักษาเงินและเอกสารเกี่ยวกับการเงินของราชนาวิกสภา
  • แผนกพัสดุ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาบรรดาสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งมีอยู่และใช้สอยในราชนาวิกสภา
  • แผนกสุขาภิบาล มีหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับสุขาภิบาลต่างๆ ตามหลักวิชาการแพทย์

กิจการงานแผนกต่างๆ ซึ่งราชนาวิกสภาได้ดำเนินมาเป็นเวลาช้านาน เป็นที่ประจักษ์ว่าบังเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม คือบรรดาทหารทั้งปวงในราชนาวีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อกิจการใดบังเกิดคุณประโยชน์ก็ย่อมเป็นที่นิยมและขยายวงกว้างออกไปทุกขณะ ต่อมากองทัพเรือจึงได้จัดตั้งกรมสวัสดิการทหารเรือขึ้นพร้อมกับโอนแผนกต่างๆ ในราชนาวิกสภา เป็นต้นว่า แผนกภัณฑุปกรณ์ แผนกสหโภชน์และสุขาภิบาล แผนกกีฬา ฯลฯ ไปขึ้นอยู่ในกรมสวัสดิการทหารเรือ เพราะกิจการงานต่างๆ ซึ่งราชนาวิกสภาทำอยู่แต่แรกเริ่มนั้นได้ขยายตัวกว้างขวางกว่าเดิม ที่ตั้งเดิมไม่สามารถรองรับได้หมดจึงได้ย้ายส่วนงานดังกล่าวงานออกไป  กาลต่อมาราชนาวิกสภาจึงมีหน้าที่รับผิดชอบแต่เพียงงาน แผนกห้องสมุด แผนกนาวิกศาสตร์  และแผนกปาฐกถา   

ต่อมาได้มีการปรับปรุงระเบียบกองทัพเรือว่าด้วย ราชนาวิกสภา ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  ดังปรากฏตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วย ราชนาวิกสภา พ.ศ.๒๕๕๓ ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ลงนามโดย         พลเรือเอก กำธร  พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น กำหนดให้ ราชนาวิกสภาเป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษา เผยแพร่วิชาการ และแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก บริหารกิจการโดยคณะกรรมการ  แบ่งกิจการออกเป็น ๒ แผนก คือ

  • แผนกนาวิกศาสตร์  มีหน้าที่ จัดทำและแจกจ่ายนิตยสารนาวิกศาสตร์ให้กับสมาชิกเพื่อเผยแพร่วิชาการและเป็นสื่อที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือกับประชาชน
  • แผนกส่งเสริมความรู้ มีหน้าที่ ส่งเสริมและเผยแพร่วิทยาการด้านต่างๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งจัดให้มีการแสดงปาฐกถา การโต้วาที การบรรยาย และอื่นๆ ทางวิชาการ

 

การดำเนินกิจการราชนาวิกสภาในยุคปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนบริหาร และส่วนปฏิบัติการ คือ

  • ส่วนบริหาร ประกอบด้วย คณะกรรมการ จำนวน ๑๕ นาย และเหรัญญิก ๑ นาย ดังนี้

 ๑.๑ นายกกรรมการ แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทั้งนี้ นายก

กรรมการสามารถพิจารณาแต่งตั้ง ที่ปรึกษาราชนาวิกสภาได้ไม่เกิน  ๕  นาย บรรณาธิการ ผู้ช่วยบรรรณาธิการ และเจ้าหน้าที่ประจำกองบรรณาธิการนาวิกสตร์ ได้ตามความเหมาะสม

๑.๒ รองนายกกรรมการ ๑ นาย และกรรมการ ๑๒ นาย รวม ๑๓ นาย แต่งตั้งโดยการเสนอของนายกกรรมการ  ซึ่งพิจารณาคัดเลือกนายทหารจากทุกพรรค – เหล่า เข้ามาดำรงตำแหน่งหมุนเวียนตามความเหมาะสม แล้วเสนอรายชื่อให้กองทัพเรือแต่งตั้ง

๑.๓ กรรมการและเลขานุการ แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานราชนาวิกสภา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

๑.๔ เหรัญญิกของราชนาวิกสภา แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายการเงิน สำนักงานราชนาวิกสภา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

  • ส่วนปฏิบัติการ ได้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานราชนาวิกสภา ซึ่งเป็นข้าราชการทหาร ลูกจ้าง และพนักงานราชการ ในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานราชนาวิกสภา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

km2560complete (1)

(เยี่ยมชมทั้งหมด 459 ครั้ง, วันนี้ 1 ครั้ง)
Facebooktwittergoogle_plusredditpinterestlinkedinmail

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

ข้ามไปยังทูลบาร์